9 วิธีการใช้ชั้นวางสินค้าแบบผิดๆ

9 วิธีการใช้ชั้นวางสินค้าแบบผิดๆ ที่คุณควรเลิกทำ!!

การใช้ชั้นวางแบบผิด ๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกร้านค้าที่ทำธุรกิจ

แต่ถ้าคุณกำลังคิดว่า

“มันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรนี่.. ถ้าไม่มีอันตรายเกิดขึ้นในร้านค้า”

“ใช้งานชั้นวางแบบไหนก็คงเหมือนกัน เพราะมันก็แค่เชลฟ์ที่ใช้แค่วางสินค้าแค่นั้นเอง” 

ใครที่กำลังคิดแบบนี้อยู่.. เราอยากให้คุณเปลี่ยนความคิดด่วนเลยค่ะ!! เพราะถ้าคุณลองใส่ใจรายละเอียดเกี่ยวกับมัน คุณจะรู้ว่า

“ชั้นวางสินค้ามีผลกับทุกอย่างภายในร้าน”

และบางครั้งคุณอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณกำลังใช้งานชั้นวางแบบผิด ๆ อยู่ 

บทความนี้เราจึงจะมาอธิบายให้คุณทราบว่า การใช้ชั้นวางแบบผิด ๆ มีแบบไหนบ้าง และมันส่งผลกระทบต่อร้านค้าของคุณยังไง ตามมาอ่านกันเลยค่ะ

1. ชั้นวางสินค้า “ไม่เหมาะสมกับสิ่งที่ขาย”

การที่ชั้นวางสินค้ามีความเหมาะสมกับสิ่งที่ขายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เลยค่ะ เพราะเมื่อลูกค้าเลือกเดินเข้ามาซื้อของที่ร้านของคุณ เขาก็จะมีความคาดหวังในระดับหนึ่งแล้ว

อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นร้านค้าปลีกระดับ Hi-end ที่มีเสื้อผ้าราคาแพง ๆ ขาย ลูกค้าก็จะมีคาดหวังว่า จะได้เห็นชั้นวางที่มีความซับซ้อน มีความละเอียดอ่อน ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับเสื้อผ้า และยังต้องมีความ elegant ในตัว

หรือจะเป็นร้านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ต้องอาศัยชั้นวางที่ถูกออกแบบมารองรับกับการใช้งานอย่างเหมาะสมกับสินค้าเป็นอย่างมากเช่น สายไฟ ที่ต้องใช้ ชั้นวางแกนโรล สำหรับสายไฟโดยเฉพาะ

ตัวอย่างการใช้ชั้นวางสินค้าที่เหมาะสมกับสิ่งที่ขาย

ชั้นวางสายไฟ

ดูรูปเพิ่มเติม >> ชั้นวางวัสดุก่อสร้าง

“ข้อผิดพลาดของชั้นวาง ที่ไม่ตรงกับสินค้าที่จะนำเสนอ

อาจสร้างความสับสน และหงุดหงิดให้กับผู้บริโภคได้ เมื่อเขาได้มาเดินช้อปปิ้ง”

ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเป็นร้านระดับไฮเอนด์ถึงจะทำชั้นวางให้สวยงามได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นร้านค้าประเภทไหน ก็จะต้องใช้ชั้นวางที่สวยงามและต้องสอดคล้องกับสินค้าด้วยค่ะ

2. ตำแหน่งการติดตั้งชั้นวางที่ “ไม่เป็นแบบเดียวกัน”

ไม่สำคัญว่าคุณจะเลือกเชลฟ์หรือชั้นวางของแบบไหน..

คุณสามารถเลือกชั้นวางแบบไม้..

คุณสามารถเลือกชั้นวางแบบเหล็ก..

หรือคุณจะเลือกชั้นวางแบบพลาสติกก็ได้ถ้าคุณต้องการ

แต่สิ่งสำคัญคือ “คุณจะต้องจัดตำแหน่งติดตั้งชั้นวางให้แบบเดียวกันอยู่ด้วยกัน”

ลองคิดภาพว่า คุณมองเห็นชั้นวางแบบไม้ อยู่ในตำแหน่งที่ถัดจากชั้นวางแบบเหล็ก และยังมีชั้นวางแบบพลาสติกอยู่ถัดไปอีก แบบนี้มันค่อนข้างมั่วและไม่สวยงามค่ะ

ฉะนั้นในขั้นตอนการติดตั้งและจัดวาง คุณควรวางในตำแหน่งให้ชั้นวางเป็นแบบเดียวกัน เช่น ชั้นวางแบบเหล็กก็วางในโซนเดียวกัน, ชั้นวางแบบพลาสติกก็ต้องวางใกล้ ๆ กัน แบบนี้จะดูสวยงามเป็นระเบียบกว่าแน่นอนค่ะ

3. ชั้นวาง “สกปรก” 

ร้านค้าของคุณมีสินค้าที่มีคุณภาพ

ร้านค้าของคุณมีบริการที่ยอดเยี่ยม 

ร้านค้าของคุณมีราคาที่น่าซื้อ

แต่สิ่งเหล่านี้จะสูญเปล่าไปเลย ถ้าชั้นวางของคุณสกปรก ไม่ใช่แค่ร้านอาหารเท่านั้นที่จะต้องทำความสะอาดอยู่ตลอด แต่ร้านค้าปลีกอื่น ๆ ก็ต้องทำความสะอาดทั้งชั้นวางและทุกซอกทุกมุมของร้านบ่อย ๆ เช่นกัน 

ลองคิดดูว่า ลูกค้าจะซื้อของที่ร้านค้าของคุณมั้ย..? ถ้าเขาเดินช้อปอยู่แล้วมองเห็นชั้นวางของคุณสกปรกและสินค้าปกคลุมด้วยฝุ่น (เราคิดว่า มีสิทธิ์สูงมากที่จะไม่ซื้อ)  

ดังนั้นปลอดภัยไว้ก่อน ด้วยการหมั่นทำความสะอาดชั้นวางบ่อย ๆ อย่าให้ลูกค้าต้องมาคอมเพลนว่า“ชั้นวางในร้านของคุณสกปรกจังเลย” แบบนี้จะดีกว่านะคะ 🙂

4. ชั้นวางได้รับ “การติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง”

นอกจากชั้นวางสินค้าที่สกปรกแล้ว สิ่งที่อันตรายมากกว่านั้นคือ การติดตั้งชั้นวางที่ไม่ถูกต้อง

ข้อผิดพลาดนี้อาจจะเป็น ชั้นวางที่ติดตั้งไม่ได้ระดับ, ชั้นวางมีมุมที่แหลมคมยื่นออกมาที่ทางเดิน หรือชั้นวางที่ติดตั้งไม่ได้คุณภาพจนมันพังได้ง่าย

ผลที่ตามมาคือ สินค้าอาจจะหล่นลงมาได้ง่าย, ลูกค้าเดินชนชั้นวางจนได้รับบาดเจ็บ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นที่ชั้นวางพังลงมาทับคนได้เลยค่ะ 

ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น คุณจึงควรตรวจสอบการติดตั้งให้ดีก่อนอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนจะทำการเปิดร้านนะคะ

(คลิกอ่านบทความเรื่อง : ลูกค้าเต็มร้าน..เริ่มได้ตั้งแต่การออกแบบร้านค้า )

5. ชั้นวาง “รกเกินไป” 

ลองสังเกตชั้นวางของคุณว่ามันรกเกินไปรึเปล่า? 

นอกจากสินค้าที่อัดแน่นเต็มเชลฟ์แล้ว คุณจะมีการเพิ่มป้ายราคา, ป้ายโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่าง ๆ  เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า

“ซึ่งถ้าคุณใส่ทุกอย่างเข้าไปในชั้นวาง โดยไม่มีการจัดระเบียบให้ดี มันจะดูแล้วรกจนไม่น่าซื้อ”

หาความสมดุลของทุกองค์ประกอบในชั้นวางให้มันอยู่ในจุดที่พอดี ไม่มากเกินหรือไม่น้อยไป จัดเรียงทุกอย่างไว้อย่างสบายตา ถ้าทำแบบนี้มันจะเพิ่มความรู้สึกให้ลูกค้าอยากช้อปมากกว่าเดิมค่ะ

6. ชั้นวาง “ไม่มีป้ายราคา”

“2 สิ่งที่ลูกค้าไม่ชอบ” โดยส่วนใหญ่มันคือ การรอคิวนานกับบริการที่แย่ ๆ ก็พอจะเข้าใจได้ค่ะ ว่าทำไมถึงไม่ชอบ เพราะเมื่อไหร่ที่ลูกค้าไปซื้อของแล้วเจอ 2 สิ่งนี้ มันจะเกิดความผิดหวังเกิดขึ้นในใจของพวกเขาทันที

แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าผิดหวังเช่นกันนั่นก็คือ “ไม่มีป้ายราคาบนชั้นวาง” รวมถึงป้ายราคาบางอันไม่ตรงกับราคาจริงด้วย

อยากให้คุณลองคิดถึงลูกค้าที่มีงบที่จำกัด, ลูกค้าที่มาช้อปปิ้งแค่สัปดาห์ละครั้ง (แล้วซื้อของทีละหลาย ๆ อย่าง), หรือลูกค้าที่มักจะเปรียบเทียบสินค้าเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

เมื่อพวกเขาเดินไปที่ชั้นวางและกำลังจะซื้อสินค้าอยู่แล้ว แต่กลับพบว่าไม่มีป้ายราคาสำหรับสินค้าที่จะซื้อ คุณคิดว่าเขาจะทำยังไง?

  1. หยิบสินค้าไปสอบถามพนักงาน หรือ 2. ไม่สนใจซื้อสินค้านั้นเลย 

สำหรับตัวผู้เขียนเอง ถ้าไม่ได้สนใจสินค้านั้นแบบ 100% จริง ๆ .. เราเลือกที่จะไม่ซื้อค่ะ

เราคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นแบบเดียวกันนะ เพราะบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ทำการวิจัยออกมาว่า

ป้ายราคามีผลต่อการซื้อของผู้บริโภค”

(อ้างอิงป้ายราคามีผลต่อการซื้อ dspace.bu.ac.th  , library.tu.ac.th )

เพราะฉะนั้น เวลาที่คุณจัดสต็อกสินค้าบนชั้นวาง นอกจากจะต้องเช็คความเรียบร้อยว่าตำแหน่งของสินค้าถูกต้องแล้ว คุณควรเช็คด้วยว่า มีป้ายราคาติดอยู่หรือเปล่า

การทำแบบนี้จะทำให้ลูกค้าของคุณพึงพอใจ รวมถึงรู้สึกว่าคุณใส่ใจและไม่ปล่อยปะละเลย หลังจากนี้มีโอกาสที่พวกเขาจะกลับมาช้อปที่ร้านค้าของคุณอีกแน่นอนค่ะ  

ซึ่ง ป้ายพลาสติกใสใส่ราคา นั้นมีหลากหลายแบบด้วยกันทั้ง แบบสอดเข้าไปในชั้นวาง, แบบสติ๊กเกอร์แปะ, หรือแบบสอดเข้าไปในราวเหล็ก ในส่วนของป้ายราคานี้ คุณก็ต้องเลือกสรรให้ตรงกับชั้นวางนั้น ๆ ด้วยค่ะ

(คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง : ทำไม? ชั้นวางสินค้า ต้องติดด้วยป้ายโฆษณาหรือ Shelf talkers )

7. สินค้าอยู่ใน “ตำแหน่งที่เอื้อมไม่ถึง”

คุณมีป้ายราคาติดที่ชั้นวางแล้ว คุณมีการจัดเรียงสินค้าอย่างเป็นระเบียบแล้ว แต่ยังไงก็ตาม ‘ปัญหาจะตามมาถ้าลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงสินค้าได้ตั้งแต่แรก’ 

การซื้อชั้นวางแบบสูง ๆ เพื่อที่จะบรรจุสินค้าได้เยอะ ๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ มันอาจช่วยให้คุณจัดเก็บสินค้าได้เยอะ และเพิ่มพื้นที่ในร้านให้ได้มากที่สุดก็จริง

แต่มันจะไม่เวิร์คเลย ถ้าสินค้าอยู่ในตำแหน่งที่สูงเกินไปจนลูกค้าเอื้อมหยิบไม่ถึง 

คุณอาจจะเถียงอยู่ในใจว่า.. “ก็ให้พนักงานคอยช่วยก็ได้นี่นา” ใช่ไหมล่ะคะ 🙂

แต่จะเกิดอะไรขึ้นล่ะ ถ้าไม่มีพนักงานอยู่ในบริเวณนั้น?

ลูกค้าบางคนอาจเดินตามหาพนักงาน แต่คุณก็ต้องยอมรับว่าจะมีลูกค้าส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้านั้นนะ

ดังนั้นการเลือกชั้นวางจึงสำคัญ เลือกแบบที่ลูกค้าสามารถหยิบได้อย่างสะดวกสบายและซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว

อย่าลืมสิว่าคุณเปิดร้านมาเพื่อขายของ ถ้าสินค้าอยู่ในตำแหน่งที่ซื้อได้ยาก ของจะขายออกได้ยังไงล่ะ จริงไหมคะ? 

8. สินค้าบนชั้นวาง “ไม่หลากหลาย”

การเลือกสรรผลิตภัณฑ์มาเรียงบนชั้นวาง ถ้าไม่หลากหลาย มันก็จะไม่ตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมซึ่งมันอาจส่งผลให้ลูกค้าเลือกที่จะไปซื้อที่ร้านอื่น 

แน่นอนว่ามันขึ้นอยู่กับประเภทร้านค้า และขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างด้วย ถ้าเป็นร้านไฮเอนด์ ที่ต้องการพรีเซนต์ความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าแบบเน้น ๆ ก็สามารถจัดวางน้อย ๆ ได้ 

แต่ถ้ากิจการของคุณเป็นร้านค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ, ร้านมินิมาร์ท, ร้านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์, ร้านกิฟท์ช็อป ฯลฯ ร้านเหล่านี้จะต้องมีสินค้าเยอะๆบนชั้นวาง เพื่อดึงดูดผู้คนมาช้อปปิ้งที่ร้านของคุณ และมันทำให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อของได้อย่างจุใจ

9. คุณ “ไม่ใส่ใจ” กับการวางแผนผังชั้นวาง 

ทุกอย่างที่เรากล่าวมาทั้งหมด ถ้าคุณสามารถแก้ไขมันได้ ก็ถือว่าคุณประสบความสำเร็จไปแล้ว 90% 

แต่มันจะเพอร์เฟคมาก ถ้าอีก 10% คุณใช้มันใน การวางแผนผังชั้นวางให้ดี

การวางแผนผังชั้นวาง ไม่เพียงแต่จะช่วยกำหนดว่าจะต้องจัดวางสินค้าบนชั้นวางมากแค่ไหน แต่มันสามารถกำหนดครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งเรื่องที่

  • ควรวางอะไรไว้ตำแหน่งไหน
  • ควรเน้นสินค้าไหนเป็นพิเศษถึงจะตอบสนองลูกค้าได้ดี
  • แม้กระทั่งสามารถจัดตำแหน่งชั้นวาง ให้ลูกค้าเดินตามทิศทางที่คุณต้องการได้ 

หากคุณใส่ใจกับเรื่องการวางแผนผังร้าน มันจะช่วยให้ธุรกิจของคุณดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและเป็นระเบียบมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้คุณอาจใช้ Planogram มาช่วยในการวางแผนชั้นวางได้ค่ะ 

สรุป

สารภาพมาซะดี ๆ นะคะว่า คุณกำลังใช้ชั้นวางแบบผิด ๆ ตามข้อใดข้อหนึ่งที่เราได้กล่าวมารึเปล่า?

ถ้ากำลังทำอยู่ ให้รีบปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้เลยนะคะ

เพราะถ้าคุณจัดการชั้นวางได้ไม่ดี สิ่งที่ตามมาคือ ร้านค้าของคุณจะไม่น่าดึงดูด โอกาสที่ลูกค้าจะเข้ามาซื้อมีน้อยลง ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือยอดขายตกนั่นเอง

ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น คุณจะต้องใส่ใจกับการใช้งานของชั้นวางมากกว่าเดิม รวมถึงจัดการกับมันให้ดีเพื่อจะได้ใช้งานชั้นวางอย่างเป็นประโยชน์มากที่สุดค่ะ 🙂 

บทความดีๆ By : ชั้นวางสินค้า PN

Reference :

  • dotactiv.com “9 Shelving Mistakes You Need to Stop Making”  3/11/2017 dotactiv
  • dspace.bu.ac.th “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (ร้านโชห่วย)”  2016 dspace.bu
  • ethesisarchive.library.tu.ac.th “ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในการซื้อสินค้าเทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus)” 2016 library.tu