การจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

จัดการคลังสินค้าอย่างไร.. ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด [ฉบับเข้าใจง่าย]

1. การจัดการคลังสินค้า คืออะไร?

Warehouse Management หรือการจัดการคลังสินค้า คือ กระบวนการควบคุมและจัดระเบียบทุกอย่างภายในคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การป้อนสินค้าเข้าสู่คลัง ไปจนถึงสินค้าส่งออกจากคลังเพื่อขายหรือบริโภค 

โดยจะรวมไปถึง การจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง, การบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในคลังสินค้า, การจัดสต็อกใหม่ที่เข้ามาในโกดัง, คำสั่งซื้อ การบรรจุสินค้า และการจัดส่ง, การติดตามและการปรับปรุงประสิทธิภาพของคลังสินค้าโดยรวม 

  • วัตถุประสงค์ของการจัดการคลังสินค้า

  1. ลดระยะทางในการเคลื่อนย้ายให้มากที่สุด
  2. ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  3. สร้างความมั่นใจว่าแรงงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ สาธารณูปโภคต่าง ๆ มีเพียงพอและสอดคล้อง กับระดับของธุรกิจที่ได้วางแผนไว้
  4. สร้างความพึงพอใจในการทำงานในแต่ละวันแก่ผู้เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายสินค้า ทั้งการรับเข้าและการจ่ายออก โดยใช้ปริมาณจากการจัดซื้อ และความต้องการในการจัดส่งให้แก่ลูกค้าเป็นเกณฑ์
  5. สามารถวางแผนได้อย่างต่อเนื่อง ควบคุม และรักษาระดับการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบริการภายใต้ต้นทุนที่เกิดประสิทธิภาพคุ้มค่าในการลงทุนตามขนาดธุรกิจที่กำหนด
  • ประโยชน์ของการจัดการคลังสินค้า

  1. ช่วยประหยัดค่าขนส่ง 
  2. ช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต 
  3. ช่วยให้ได้รับผลประโยชน์จากส่วนลดเพื่อซื้อสินค้าจำนวนมาก
  4. ช่วยป้องกันสินค้าขาดแคลน 
  5. ช่วยสนับสนุนนโยบายการให้บริการลูกค้าของกิจการ 
  6. ช่วยให้เกิดความพร้อมที่จะเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของตลาด

2. การจัดการคลังสินค้ามีกระบวนการอย่างไร? 

โดยทั่วไปกระบวนการเหล่านี้มักจะวนเวียนอยู่กับการรับและจัดส่งสินค้าค่ะ  

การจัดการคลังสินค้า

กระบวนการจัดการคลังสินค้า

และถ้าเป็นเป็นกิจกรรมหลัก ๆ ในกระบวนการเลยก็จะมี 

  1. งานรับสินค้า (Goods Receive) เป็นการรับสินค้าเข้ามาสต็อกในคงคลัง ไม่ว่าจะเป็นจากการผลิตของโรงงานหรือนำเข้ามาจากที่อื่นก็ตาม
  2. การตรวจพิสูจน์ (Identify goods) เพื่อรับรองความถูกต้องในเรื่องของ ชื่อ แบบ หมายเลข หรือข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสินค้า
  3. การตรวจแยกประเภท (Sorting goods) แยกประเภทเพื่อความสะดวกในการเก็บรักษาเช่น เป็นของดี ของชำรุด ของเก่า ของใหม่ ซึ่งต้องแยกออกจากกันในการเก็บรักษาคลังสินค้า
  4. งานจัดเก็บสินค้า (Put away) การขนย้ายสินค้าเข้าสู่แถว, ชั้นวางสินค้า, และตำแหน่งของสินค้า
  5. งานดูแลรักษาสินค้า (Holding goods) เป็นการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมสภาพของสินค้า 
  6. การนับสต็อก (Inventory Count) นับตามรายละเอียดในใบนับสต็อก(ชนิด ปริมาณ ฯลฯ) เปรียบเทียบข้อมูลที่เก็บกับที่ได้จากการตรวจนับจริง
  7. งานจัดส่งสินค้า (Dispatch goods) เป็นการจัดส่งหรือการจ่ายสินค้าให้แก่ผู้รับหรือการคืนสินค้าให้แก่ผู้ฝาก
  8. การหยิบเลือกสินค้า (Picking) เป็นการเลือกหยิบเอาสินค้าจากพื้นที่ต่างๆ ในคลังเก็บสินค้ามารวมกันไว้ไปยังโซนต่อไป 
  9. การจัดส่ง (Shipping) เป็นกระบวนการบรรจุสินค้า, แพ็คสินค้า, ทำเครื่องหมาย, ชั่งน้ำหนัก และส่งมอบผลิตภัณฑ์ออกจากคลังสินค้าไปสู่ผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคต่อไป
  10. การจัดทำรายงาน (Report) ติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และผลของการจัดการคลังสินค้าเพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาปรับปรุง รวมถึงการประมวลผลสรุปข้อมูลเชิงตัวเลข สถิติ และเชิงบรรยาย

3. จัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำอย่างไร?

ขั้นตอนการเริ่มต้นสำคัญที่สุดในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคลังสินค้า คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้จัดเตรียมทุกอย่างไว้อย่างดีที่สุด  โดยสิ่งที่คุณจะต้องคำนึงเลยก็คือ 

3.1) จัดการพื้นที่ให้เป็นระเบียบ

ทำได้โดยการเขียนแผนผังคลังสินค้าขึ้นมา โดยจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างสองสิ่งนั่นก็คือ 

  1. การจัดหาพื้นที่ที่มีขนาดกว้างเพียงพอสำหรับคลังสินค้าของคุณ 
  2. ในขณะเดียวกันก็ต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับพนักงานในการเคลื่อนย้ายสินค้าด้วย 

โดยพื้นที่จะแบ่งออกได้ดังนี้ 

  • พื้นที่สำหรับรับสินค้าใหม่ที่เข้ามา 
  • พื้นที่สำหรับเปิดกล่องและวางสินค้าใหม่ 
  • สำนักงานคลังสินค้า 
  • พื้นที่หลักในการจัดเก็บสินค้า
  • พื้นที่จัดเก็บสินค้าส่วนเกิน, หมดอายุ,  หรือสินค้าค้างสต็อก 
  • พื้นที่บรรจุภัณฑ์หรือโซนแพ็คสินค้า 
  • บริเวณขนส่ง

จริง ๆ แล้วคุณอาจรู้สึกว่ามันมีหลายพื้นที่จนยุ่งยากในการจัดการ แต่ถ้าคุณร่างเค้าโครงคลังสินค้าของคุณตั้งแต่แรกเพื่อปรับพื้นที่และขนาดของบริเวณนั้น ๆ ให้มีความเหมาะสมก่อนจะเซ็ทพื้นที่นั้นขึ้นมา มันจะทำให้คลังสินค้าของคุณมีระเบียบและสะดวกในการใช้งานพื้นที่มาก ๆ มากเลยค่ะ 

ตัวอย่างการวางแผนผังคลังสินค้า

ตัวอย่างการวางแผนผังคลังสินค้า

ตัวอย่างการวางแผนผังคลังสินค้า

✎ Keynote : พื้นที่ว่างและความคล่องแคล่วในการเคลื่อนย้ายมีความสำคัญมาก ดังนั้นจึงควรจัดการให้ดีระหว่างชั้นวางสินค้า / ชั้นสต๊อกสินค้า กับทางเดินให้บริเวณนั้นมีพื้นที่ว่างมากพอในการหยิบจับสินค้า รวมถึงมีพื้นที่สำหรับรถแฮนด์ลิฟท์ขนย้ายสินค้าด้วย จัดการทางขึ้น-ทางลงให้ดี อย่าให้มีอะไรขวางระหว่างทาง เพื่อลดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นนั่นเองค่ะ 

3.2) ติดป้ายกำกับในคลังสินค้า

การจัดการคลังสินค้าจะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อ คุณตั้งชื่อตำแหน่งสำหรับสต็อกสินค้าและมีป้ายกำกับให้มันชัดเจน

ทีมงานในโกดังจะต้องตรวจสอบระบบคลังสินค้าอยู่เสมอว่า “สินค้าประเภทใด อยู่ตำแหน่งใด” 

หลักการก็คือ : การใช้ตัวอักษรผสมกับตัวเลขในการตั้งชื่อ เพื่อง่ายต่อการเข้าใจ”

ตัวอย่างการติดป้ายกำกับ 

โดยเราจะไปทีละ Steps ดังนี้เพื่อความง่ายต่อการเข้าใจนะคะ

การตั้งชื่อและติดป้ายกำกับจะต้องติดเป็น แถว, ชั้นสต๊อกสินค้า, และตำแหน่งสินค้าที่แน่นอน 

Steps 1 : คุณจะต้องกำหนดว่า แถว, เชลฟ์, และตำแหน่งของสินค้านั้น เป็นสินค้าตัวไหน ตามประเภท, ลักษณะเฉพาะ, สี และไซส์ ตัวอย่างเช่น 

  • แถว A  = เสื้อยืด  / เชลฟ์ A = เสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงิน / ตำแหน่งสินค้า 1 = เสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงินไซส์ S
  • แถว A = เสื้อยืด / เชลฟ์ A = เสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงิน / ตำแหน่งสินค้า 2 เสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงินไซส์ M

และเรียงไปเรื่อย ๆ 

การจัดการคลังสินค้าด้วยการติดป้ายกำกับง่ายๆ

การจัดการคลังสินค้าด้วยการติดป้ายกำกับง่ายๆ

Steps 2 : สำหรับคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่มีแถวมากขึ้นก็จะต้องเพิ่มรายละเอียดเข้าไปอีกเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น 

แถว A = เสื้อยืด

  • แถว A1 = เสื้อยืดคอกลม / เชลฟ์ A =  เสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงิน / ตำแหน่งสินค้า 1 = เสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงินไซส์ S 
  • แถว A1 =เสื้อยืดคอกลม / เชลฟ์ B = เสื้อยืดคอกลมสีแดง / ตำแหน่งสินค้า 2 = เสื้อยืดคอกลมสีแดงไซส์ M 
  • แถว A2 = เสื้อยืดคอวี / เชลฟ์ A = เสื้อยืดคอวีสีน้ำเงิน / ตำแหน่งสินค้า 1 = เสื้อยืดคอวีสีน้ำเงินไซส์ S 

เรียงไปเรื่อย ๆ 


แถว B = เสื้อเชิ้ต 

  • แถว B1 = เสื้อเชิ้ตแขนสั้น  / เชลฟ์ A =  เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำเงิน / ตำแหน่งสินค้า 1 = เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำเงินไซส์ S

✎ เรียงไปเรื่อย ๆ ตามประเภท / ลักษณะเฉพาะ, สี และไซต์ 

ซึ่งคุณก็สามารถนำไปดัดแปลงให้เหมาะสมกับสินค้าของคุณได้ค่ะ ดูภาพตัวอย่างด้านล่างเลย 

การจัดการคลังสินค้าด้วยการติดป้ายกำกับที่มีรายละเอียดมากขึ้น

การจัดการคลังสินค้าด้วยการติดป้ายกำกับที่มีรายละเอียดมากขึ้น

#ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของคลังสินค้า, ประเภทของสินค้า, จำนวนสินค้า และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายด้วยนะคะ 

3.3) การจัดเรียงสินค้าคงคลัง

เมื่อคุณสามารถจัดการตำแหน่งของป้ายกำกับสินค้าในคลังแล้ว.. 

คำถามคือ แล้วตำแหน่งการเรียงสินค้าจะต้องเรียงจากอะไร? อันประเภทไว้ก่อน-หลังดีล่ะ?  แล้วมีเกณฑ์อะไรในการเรียงสินค้ากันนะ? ตามมาดูกันค่ะ 

คำตอบคือ : เลือกสินค้าขายดีที่สุดให้อยู่ใกล้กับโซนบรรจุภัณฑ์หรือโซนแพ็คสินค้า

Veeqo.com ผู้ให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร ได้ทำการวิจัยไว้ว่า จากผู้ค้าปลีกกว่า 20 รายที่เขาได้สอบถาม พบว่า 60% ของยอดขายในบริษัท มักมาจากผลิตภัณฑ์ 20% ที่สร้างกำไรได้มากที่สุด ซึ่งมันหมายความว่า คุณสามารถลดเวลาการเดินของพนักงานหยิบสินค้าในคลังได้อย่างมากโดย

  1. คุณต้องรู้ว่าสินค้า 20% นั้นคืออะไร
  2. จากนั้นจัดเก็บสินค้าไว้ใกล้กับโซนแพ็คสินค้ามากที่สุด 

ABC strategy จึงมีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในการจัดการสินค้าคงคลัง โดยคุณจะต้องแบ่งสินค้าคงคลังทั้งหมดออกเป็นสามกลุ่มได้แก่ A, B และ C

A = เน้นสินค้าที่มีมูลค่าสูงและสร้างผลกำไรมากที่สุด  

B = ขายได้บ่อย แต่มีคุณค่าและกำไรน้อยกว่าสินค้า A 

C = สินค้าที่ขายได้ไม่มาก และสร้างผลกำไรได้น้อยที่สุด

จากนั้นคุณเลือกวาง “สินค้า A” ไว้ใกล้กับโซนแพ็คสินค้ามากที่สุด ในขณะที่ “สินค้า C” จะอยู่ห่างออกไปมากที่สุด ตามภาพด้านล่าง 

การจัดเรียงสินค้าแบบ ABC

การจัดเรียงสินค้าแบบ ABC

โดยสินค้าขนาดเล็กและน้ำหนักเบาบางชิ้น อาจขายได้บ่อยมากพอที่จะสามารถเก็บไว้บนชั้นวางเหนือโต๊ะแพ็คสินค้า ซึ่งมันจะเป็นผลให้พนักงานแพ็คสินค้าสามารถนำมาแพ็คได้อย่างรวดเร็วและพนักงานหยิบสินค้าก็สามารถไปหยิบสินค้าที่ใหญ่กว่าได้ 

✎ Keynote : คุณสามารถใช้แนวคิดนี้ลึกลงไปอีกขั้น โดยดูว่าผลิตภัณฑ์ไหนที่ขายร่วมกันได้มากที่สุด แล้วนำมันมากเก็บไว้ใกล้กับโต๊ะแพ็คสินค้า และผลิตภัณฑ์ขายร่วมกันได้ดีมักจะถูกจัดเก็บไว้ใกล้กัน ซึ่งหมายความว่าคุณจะลดเวลาเดินของพนักงานหยิบสินค้าแต่ละคนได้เป็นสองเท่าค่ะ 

3.4) อย่ากลัวที่จะจัดเรียงสินค้าใหม่

ใช่ค่ะ.. การจัดเรียงสินค้าใหม่ มันอาจจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการดำเนินงาน มันก็มีความยุ่งยากในระดับหนึ่งเลย แต่คลังสินค้าที่ถูกจัดเรียงอย่างเหมาะสม จะสามารถช่วยประหยัดเวลาโดยรวมและลดต้นทุนอย่างมากสำหรับการจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของคุณ

ตัวอย่างเช่น 

สินค้าที่เคยขายออกยากมากที่สุดในช่วงฤดูร้อน อาจจะขายดีที่สุดในช่วงฤดูหนาว อย่างพวกเสื้อกันหนาว, หมวกไหมพรม หรือพวกร่มกับเสื้อกันฝน ควรจะนำมาจัดเรียงใหม่ให้ใกล้กับโซนแพ็คสินค้าในช่วงฤดูฝน 

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลในการจัดเรียงสินค้าใหม่ให้สอดคล้องกับฤดูกาล และเวลาที่มันควรจะเป็นค่ะ 

3.5) อุปกรณ์ในคลังสินค้าต้องมีคุณภาพ

การจัดการคลังสินค้าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ต่อเมื่อคุณมีอุปกรณ์ที่ดีที่สุดในคลังสินค้าของคุณด้วย สิ่งสำคัญที่สุดในคลังสินค้า ที่จะต้องใส่ใจมากที่สุดคือ

แรคเก็บสินค้าสีน้ำเงิน
แร็ควางของ ชั้นแร็ค ชั้นสต็อกสินค้าในโกดัง พื้นไม้

แร็คและชั้นสต็อกสินค้า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรมีในโกดัง หรือคลังจัดเก็บสินค้า สิ่งสำคัญคือชั้นสต็อกสินค้า และชั้นวางสินค้าจะต้องมีคุณภาพ มีความแข็งแรง และรับน้ำหนักได้มาก และควรมีการออกแบบ / ผลิตให้เหมาะสมกับชิ้นงานในโกดังด้วยนะคะ

ซึ่ง ชั้นวางสินค้า PN ของเรารับออกแบบผลิตชั้นวางสินค้า แร็ควางของและชั้นสต็อกสินค้าให้เหมาะสมกับโกดังและของคุณให้ได้มากที่สุด

เรามีทีมออกแบบ 3D วางแปลนร้าน และมีทีมงานที่คอยให้บริการลูกค้าด้วยใจ (ที่สำคัญ เราผลิตชิ้นงาน – พ่นสี – และทำทุกกระบวนการเองตั้งแต่ต้นจนจบ รับรองว่าหากสั่งสินค้ากับเรา ลูกค้าสามารถติดตามงานได้ตลอดค่ะ) สามารถดูตัวอย่างการออกแบบของ PN ได้ที่ด้านล่างเลยนะคะ

ตัวอย่างแบบแปลน 3D และการผลิตติดตั้งชั้นสต็อกในคลังสินค้า by PN

รายการอุปกรณ์ในคลังสินค้าอื่น ๆ ที่ควรมี  

  • พาเลทวางสินค้า –  ไว้ใช้วางรองกล่องลังสินค้า เพื่อที่จะยกสินค้าขึ้นบนแฮนด์ลิฟท์หรือรถลากพาเลทได้ อีกทั้งยังวางบนชั้นสต๊อกสินค้าได้ง่ายมากขึ้น 
  • รถเข็นสินค้า – พนักงานหยิบสินค้าจะต้องมีรถเข็นสำหรับหยิบสินค้าไปที่โซนแพ็คสินค้า
  • Hand Lift  –  สำหรับยกเพื่อเคลื่อนย้ายพาเลทสินค้าและกล่องลังสินค้าทีละเยอะ ๆ 
  • กล่องใส่สินค้า –  โดยปกติแล้วภาชนะพลาสติกธรรมดา ๆ จะวางบนรถเข็นและจะเก็บสินค้าได้ครั้งละหนึ่งคำสั่งเท่านั้น
  • โต๊ะแพ็คสินค้า – จะมีความทึบและใหญ่กว่าโต๊ะทำงานทั่วไป และจะมีม้วนเพื่อให้ใส่วัสดุที่จะแพ็คเข้าไปได้ด้วย 
  • วัสดุในการแพ็ค – ไม่ว่าจะเป็นกล่องสำหรับขนส่ง, เทปกาว, พลาสติกหุ้มกันกระแทก, กระดาษฝอยรองสินค้า 
  • เครื่องปริ้นท์  – สำหรับปริ้นท์ใบคำสั่งซื้อ, ใบแจ้งหนี้, ปริ้นท์ป้ายต่าง ๆ
  • คอมพิวเตอร์ –  สำหรับทำงานที่เกี่ยวกับเอกสาร 
  • เครื่องชั่งสินค้า – ใช้ในการชั่งน้ำหนักสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออก 
  • กล้องวงจรปิด  –  สินค้าคงคลังเป็นทรัพย์สินทางธุรกิจและควรได้รับการป้องกันอย่างดี เผื่อมีการโจรกรรมเกิดขึ้น

PS. ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าสินค้าคงคลังของคุณเป็นผลิตภัณฑ์แบบใด ยังไงก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมนะคะ 

✎ สรุป 

การจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพจะต้องใช้วิธีดังนี้ 

  1. จัดการพื้นที่ให้เป็นระเบียบโดยการวาดแผนผังและจัดเรียงเลย์เอ้าต์ให้ดีตั้งแต่แรก 
  2. ติดป้ายกำกับในคลังสินค้า
  3. จัดเรียงสินค้าแบบ A B C เรียงตามสินค้าที่ขายดีที่สุดไปหาสินค้าที่ขายดีน้อยที่สุด 
  4. อย่ากลัวที่จะจัดเรียงสินค้าใหม่ 
  5. อุปกรณ์ในคลังสินค้าต้องมีคุณภาพ 

หวังว่า PN จะสามารถช่วยให้คุณนำเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้จากเรานำไปปรับปรุงการจัดการคลังสินค้าของคุณได้

นอกจากนี้ยังมีวิธีการจัดการคลังสินค้าแยกย่อยลงไปอีกมากมายตามกระบวนการต่าง ๆ ที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่ง PN จะรวบรวมข้อมูลมาทำคอนเทนต์เพิ่มเติมให้อ่านกันเรื่อย ๆ แน่นอนค่ะ ยังไงก็ฝากติดตามในบทความอื่น ๆ ของเราที่จะอัพเดทให้อ่านกันในหัวข้อต่อไปด้วยนะคะ